ผอ.ปปส.ภ.1 ร่วมประชุมการตรวจราชการตามแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีประจำปีงบประมาณ 2568 รอบที่2 จังหวัดสิงห์บุรี

เมื่อวันที่ : 20 พ.ค. 2568 11:33
หน่วยงาน : สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 1
13 ครั้ง

       วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม 2568 เวลา 9.00น. นายทิพเมษฐ์ สังขวรรณะ ผอ.ปปส.ภ.1 และคณะ เข้าร่วมประชุมการตรวจราชการตามแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีประจำปีงบประมาณ 2568 รอบที่2 โดยมีนายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีนายสุเมธ ธีรนิติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสิงห์บุรี เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมขุนสรรค์ พันเรือง ชั้น5 ศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี
โดยผอ.ปปส.ภ.1 ได้นำเสนอนโยบายและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 4 ประเด็น ดังนี้
     
   1) สถานการณ์ยาเสพติดของจังหวัดสิงห์บุรี จัดอยู่ในสถานการณ์ที่เบาบาง โดยหนักที่สุดในพื้นที่ภาค 1 คือจังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง ที่จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม โดยมีพื้นที่พักยาที่จ.สุพรรณบุรี ของภาค 7 และจ.ลพบุรี โดยมีการข่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงแม้สถานการณ์จะเบาบางแต่ก็พร้อมที่จะมีการแพร่ระบาดได้เช่นกัน ซึ่งถ้ามีการกวดขันพื้นที่ ใกล้เคียงก็มีผลทำให้ยาเสพติดเข้ามาแพร่กระจายในจังหวัดสิงห์บุรี เช่นหอพัก บ้านเช่า เป็นพื้นที่พักคอยเพื่อกระจายยาเสพติดต่อได้
    2) การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในด้านปราบ ก็จะมีการดำเนินคดีข้อหา สมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ และมาตรการริบทรัพย์สิน ซึ่งในพื้นที่ภาค 1 ที่เด่นด้านปราบก็จะเป็น ภ.จว.สมุทรปราการ และสระบุรี มีชุดปฏิบัติการที่มีความเข้มแข็งและเชี่ยวชาญในมาตรการด้านปราบ  ส่วนภ.จว.สิงห์บุรีอยู่ระหว่างการพัฒนาความรู้ ยกระดับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ในด้านข้อกฎหมายและการทำงานร่วมกันทั้งด้านการข่าวและการประสานปฏิบัติ
โดยพื้นที่ภาค 1 และจังหวัดสิงห์บุรี จะไม่มีชายแดนแต่สภาพปัญหาในขณะนี้ชายแดนก็อยู่ไม่ไกลมากนัก ยาเสพติดทางภาคเหนือเช่น จ.ตาก เชียงใหม่ เชียงราย ภาคตะวันตก จ.เพชรบุรี ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี ก็จะเข้ามาแพร่กระจายในพื้นที่ภาค 1 ซึ่งสำนักงานป.ป.ส. ได้มีโครงการสำคัญ ในขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนชายแดน หรือที่เรียกว่า นบยส. ซึ่งก็จะมี นบ.ยส.17 ภาคตะวันตก, นบ.ยส. 24 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนบ.ยส.35 ภาคเหนือ โดยใช้กำลังของหน่วยทหารร่วมกับจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งในปัจจุบันนักค้ายาเสพติดขนยาเสพติดโดยไม่สนใจการทำงานของเจ้าหน้าที่จะเห็นได้จากการจับกุมยาเสพติดหลักล้านเม็ดขึ้นไป ทำให้ยาเสพติดเข้ามาแพร่กระจายในพื้นที่และราคาก็ถูกลง ทำให้ผู้เสพก็สามารถเข้าถึงยาเสพติดได้โดยง่าย ซึ่งถ้ามีการเสพในปริมาณที่มาก และต่อเนื่องหลายวันติดต่อกันก็จะทำให้เกิดอาการหลอน 
    3) ในเรื่องของการสกัดกั้นของจังหวัดสิงห์บุรี ควรเน้นจุดตรวจที่สำคัญในจังหวัด และการใช้กล้อง CCTV เชื่อมโยงกับของบช.ปส. ก็จะทำให้เห็นถึงเส้นทางการลำเลียงาเสพติด รูปแบบการขนส่งยาเสพติด และรอยต่อของแต่ละพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบัน สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ทำงานบูรณาการร่วมหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน เนื่องจากในปัจจุบันนักค้ายาเสพติดมีวิธีการใหม่ๆ ในการลำเลียง ขนส่งยาเสพติด เช่นส่งผ่านทางบริษัทขนส่งเอกชน หรือใช้รถขนมากับสินค้าการเกษตร เช่นพืชผัก ผลไม้
    4) บุหรี่ไฟฟ้า ทางสำนักงาน ปปส.ภ.1 ก็ได้แจ้งเตือนภัยคุกคามในการประชุม ศอ.ปส.จ. หลายเดือนติดต่อกัน โดยนักค้าได้ปรับเปลี่ยนวิธีเพื่อเพิ่มลูกค้าหรือผู้เสพหน้าใหม่   เช่นเด็กและเยาวชน ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้ว ก็นำหัวน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ไปผสมกับยาเสพติดเช่น เคตามีน ไอซ์ กัญชา กระท่อม ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อเพิ่มราคาและดึงดูดใจลูกค้าให้มาเสพ ในส่วนของการตรวจสอบเบื้องต้น ควรใช้ชุดตรวจนิโคติน เพื่อตรวจดูก่อน และจึงใช้ชุดตรวจเคตามีนตรวจซ้ำ ซึ่งเด็กและเยาวชนยุคใหม่ ไม่สนใจเสพยาบ้า แต่จะหันไปเสพเคตามีนมากกว่า จึงควรประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนไปยังโรงเรียน ผู้ปกครองและควรมีการตรวจอย่างต่อเนื่องและเมื่อพบแล้วควรมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นและต้องใช้กฎหมายหลายฉบับควบคู่กันไป
ข้อเสนอแนะ
     1. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมและปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ในเด็กและเยาชนอย่างเด็ดขาด และให้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อเตือนภัยเกี่ยวกับโทษของบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กนักเรียนและเยาวชนได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง
    2. ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งภายในก็จะประกอบไปด้วย ชุมชน โรงเรียน สถานประกอบการ ควรเข้ามามีส่วนร่วม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่อย่างจริงจัง
ประเด็นที่ประธานผู้ตรวจฯ ขอให้ สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการ
    1. ขอให้เน้นย้ำไปยังภาคี เครือข่ายในเรื่องของบทลงโทษในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่ผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครอง
    2. แผนในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม 
   3. ขอให้มีการจัดทำสื่อ ประชาสัมพันธ์ โฆษณา ในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าภัยคุกคามไปยังเด็กและเยาวชน เช่นตัวอย่างการทำโฆษณาของ ส.ส.ส. เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงพิษภัยและโทษของบุหรี่ไฟฟ้า
   4. การปราบปราม การนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ให้ได้ผลอย่างจริงจัง โดยการบูรณาการร่วมกับ สคบ. สธ. ตร. และ ป.ป.ส.

YouTube Instagram X Line search download
Q&A FAQ