วันพุธที่ 23 เมษายน 2568 นายทิพเมษฐ์ สังขวรรณะ ผอ.ปปส.ภ.1 ได้มอบหมายให้ นางสาวจิระประภา ศรีสุภา นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และนายวัชรภูมิ โรจนพร นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ เข้าร่วมประชุมคณะทำงานเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ครั้งที่ 4/2568 ณ ห้องประชุมโพธิ์ทอง ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง โดยมี นายไพบูลย์ ศุภบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทน กอ.รมน., ภ.จว.อ่างทอง, พฐ.อ่างทอง, สาธารณสุข, เรือนจำ, สำนักงานคุมประพฤติ, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, ศึกษาธิการจังหวัด, อาชีวศึกษาจังหวัด, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด, แรงงานจังหวัด, ศอ.ปส.จ.อ่างทอง, ศป.ปส.อ. ทั้ง 7 อำเภอ และ ปปส.ภ.1 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ปปส.ภ.1 นำเสนอสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาค 1 และจังหวัดอ่างทอง (ห้วง 6 เดือนแรก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568) ได้แก่ คดีรายสำคัญในพื้นที่ภาค 1 และจังหวัดอ่างทอง (เส้นทางลำเลียง แหล่งพัก/กระจายยาเสพติด ปริมาณของกลางที่ตรวจยึด ลักษณะหีบห่อ/บรรจุภัณฑ์) สถิติการจับกุมยาเสพติดในพื้นที่ ราคายาเสพติด ข่าวผลกระทบจากยาเสพติด การดำเนินงานต่อเรื่องร้องเรียน 1386 ห้วงวันที่ 1 ต.ค. 67 - 31 มี.ค. 68 และสร้างการรับรู้/เฝ้าระวังเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ประตูสู่วิกฤตยาเสพติด และยาอีลาบูบู้
2. สถานการณ์ยาเสพติด/ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
2.1 พฐ.อ่างทอง แจ้งว่ายาบ้าในพื้นที่ที่ส่งให้ตรวจในเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา สูงสุดในพื้นที่ สภ.ป่าโมก ต่ำสุด คือ สภ.เกษไชโย ปริมาณความบริสุทธิ์ของ Meth ประมาณ 15.71% และ สภ.โพธิ์ทอง มีการนำส่งเฮโรอีนตรวจ 0.42 กรัม
2.2 ผู้แทน ศป.ปส.อ. ทั้ง 7 อำเภอ แจ้งว่าราคายาบ้าในพื้นที่เม็ดละ 30 - 50 บาท คงที่จากเดือนที่ผ่านมา
2.3 ศึกษาธิการจังหวัด, อาชีวศึกษาจังหวัด และแรงงานจังหวัด มีการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เด็ก เยาวชน และกลุ่มพนักงาน/แรงงาน
3. ข้อสั่งการและข้อเสนอแนะจากการประชุม
3.1 ประธานแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งรัดการดำเนินงานต่อข้อร้องเรียนเรื่องยาเสพติดผ่านสายด่วน 1386
3.2 ประธานสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน อ.ไชโย หมั่นลงตรวจตราเฝ้าระวังหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ ต.ชะไว เนื่องจากมีการข่าวเกี่ยวกับยาเสพติดอยู่บ่อยครั้ง
3.3 เรือนจำอ่างทอง เสนอให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลจากผู้ต้องขังในเรือนจำ ไปสู่การจับกุมผู้ค้า/ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (ใช้กลยุทธ์ "โจรจับโจร")