วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.30 น. นายทิพเมษฐ์ สังขวรรณะ ผอ.ปปส.ภ.1 พร้อมด้วย นางสมพิศ แสงบุญเกิด ผอ.ปพ. และนายวัชรภูมิ โรจนพร นวค.ปก. เข้าพบนายสุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทอง เพื่อหารือในประเด็นงานด้านการป้องกันและบำบัดรักษา ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ดังนี้
1.1 สถานการณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่าย และมีวิธีการใช้ที่ไม่ยุ่งยาก รวมถึงมีรสชาตหวานเสพง่ายกว่าบุหรี่มวน เข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ง่าย
ปัญหา : บุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากใช้ในปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ในระยะยาว และยังเป็นต้นทางไปสู่การเสพยาเสพติดชนิดต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ในการผสมกับยาเสพติดเพื่อเป็นการอำพรางในการเสพยาเสพติด ซึ่งจะสร้างผลเสียอย่างมากต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำเยาวชนเข้าไปสู่วังวงของยาเสพติด
ข้อเสนอ : ต้องเร่งสร้างการรับรู้ในเชิงป้องกันให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เด็กและเยาวชนไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และสารเสพติดทุกชนิด รวมถึงต้องมีการรณรงค์ ต่อต้านในทุกมิติเพื่อให้นักเรียนมีภูมิคุ้มกันที่ดีไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด เพื่อให้นักเรียนสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปเผยแพร่ต่อครอบครัว
แนวทางการแก้ไข :
- สนับสนุนชุดตรวจสารเสพติดให้กับหน่วยงานในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ในงานด้านการป้องปรามได้ หากในกรณีที่สำนักงาน ปปส.ภ.1 ไม่สามารถสนับสนุนชุดตรวจสารเสพติดบางประเภทได้ และเพื่อเป็นการค้นหาเด็กและเยาวชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือควมเสี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด
- จัดทำโครงการเชิงป้องกัน และรณรงค์ เสริมองค์ความรู้ให้เด็กและเยาวชนรู้ถึงโทษ และพิษภัยของสารเสพติดทุกชนิด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กไม่เข้าไปสู่วังวนของสารเสพติด และยาเสพติด ทุกชนิด
1.2 การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมของ อปท.
ปัญหา : เนื่องจากจังหวัดอ่างทองยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์ฯ ในระดับท้องถิ่นตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 จึงทำให้กระบวนการในการติดตาม ดูแล ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และไม่สามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล
ข้อเสนอ : ควรจัดตั้งศูนย์ฯ ในระดับท้องถิ่น เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดอ่างทองมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง
แนวทางการแก้ไข : อบจ. ควรขอความร่วมมือไปยัง อปท. ทุกระดับให้จัดตั้งศูนย์ฯ ซึ่งถ้าหากสามารถจัดตั้งศูนย์ฯ ในระดับท้องถิ่นได้ เช่น เทศบาล อบต. จะทำให้การช่วยเหลือ ติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษามีความทั่วถึงมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก อปท. มีงบประมาณที่สามารถนำมาช่วยเหลือ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์ของ อบจ.
1.3 การสนับสนุนรถฉุกเฉิน (Ambulance)
ปัญหา : ในกรณีที่มีผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ที่เกิดจากการใช้สารเสพติด (สีส้ม-แดง) มีความจำเป็นต้องนำส่งโรงพยาบาลเฉพาะทาง เช่น สบยช. หรือ รพ.ศรีธัญญา มักจะมีค่าใช้จ่ายสูง และสร้างผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ป่วยฯ เป็นอย่างมาก รวมถึง อบจ. ยังมีปัญหาในการนำรถฉุกเฉินออกนอกพื้นที่จังหวัด เนื่องจากเงื่อนไขบางประการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงไม่สามารถดำเนินการได้
ข้อเสนอ : อบจ. ในฐานะของหน่วยงานที่มีทรัพยากรพร้อมในการดูและประชาชนในพื้นที่ในทุกมิติ ควรเข้ามาหนุนเสริม โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด (รถ Ambulance) ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่น และความพึงพอใจให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก และควรมีการหารือในระดับหน่วยงาน เพื่อให้ อบจ.สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องตามระเบียบ
แนวทางการแก้ไข : อปท.ในทุกระดับ ควรเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานในลักษณะนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดทำระเบียบฯ ขึ้นมารองรับการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว ซึ่งสำนักงาน ปปส.ภ.1 ได้ดำเนินการประสาน และหารือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ผวจ.อท. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ นายก อบจ. ได้รับข้อสังเกตดังกล่าวเป็นประเด็นในการจัดทำแนวทางปฏิบัติ และจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานด้านยาเสพติดให้กับหน่วยงานในพื้นที่ และพร้อมทำ CBTx ในพื้นที่เทศบาลตำบลท่าช้าง อำเภอวิเศษชัยชาญ เป็นพื้นที่ต้นแบบของ อปท. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และพร้อมที่จะดำเนินงานด้านยาเสพติดในลักษณะต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ต่อไป